สวัสดีจ้า สำหรับบทความนี้เรายังต้องทำความรู้จักลำไยให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะประโยชน์ของลำไยไม่ได้มีเพียงแต่ที่กล่าวถึงในบทความที่แล้วที่ว่าด้วยเรื่อง "ลำไยกินดี รสชาติอร่อย แถมยังมีฤทธิ์เป็นยาต้านมะเร็ง" มาคราวนี้เราจะมาต่อกันจ้า มาถึงเนื้อของลำไย เนื้อลำไยสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้ ทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน จะหั่นเป็นฝอยนำไปผัดกับข้าว หรือจะเอามาต้มน้ำแกงก็เข้ากันได้ดี นอกจากจะกินผลสด และปรุงเป็นอาหารหวาน อย่างเช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นลำไยกระป๋อง ลำไยแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง สำหรับเก็บไว้กินได้นานได้อีกด้วย ยังค่ะ ยังไม่หมดลำไยยังสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่ม เช่น น้ำลำไย และไวน์ลำไย ได้ด้วย รสชาติอร่อยไม่แพ้ใคร
![]() |
ลำไยกินดี รสอร่อย ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แปรรูปได้หลากหลาย |
ลำไยกินดี รสอร่อย ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ
แปรรูปได้หลากหลาย
สำหรับประเทศที่มีอากาศหนาว อย่างเช่น ประเทศจีนถือว่าการที่ได้รับประทานลำไยจะสามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การรับประทานลำไยยังมีความเชื่อว่าสามารถเพิ่มพลังทางเพศได้ และทำให้มีโอกาสได้ลูกชายมากขึ้นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้เนื้อผลลำไยแห้ง ถูกนำมาทำเป็นอาหาร และยาสมุนไพร ไม่ว่าจะ เป็นการแช่ลำไยในแอลกอฮอล์เพื่อทำสุราลำไย หรือแม้กระทั่งการต้มเนื้อลำไยแห้งเพื่อดื่มน้ำลำไยอุ่นๆ
ทางการแพทย์ของจีนยังกล่าวอีกว่า ลำไยแห้งมีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของโลหิต บำรุงกำลังของสตรีหลังจากการคลอดบุตร บำรุงร่างกาย และระบบประสาท ในคนที่เป็นโรคประสาทอ่อนๆ นอนไม่หลับ มีอาการใจสั่น เมื่อได้กินน้ำลำไยแห้งจะช่วยให้ หลับสบาย ช่วยระงับประสาทที่อ่อนเพลียจากการทำงานหนักได้อีกด้วย ฟังดูแล้วทำไมการกินลำไยถึงได้ดีเช่นนี้ เป็นอาหารวิเศษหรือไง! จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้อะไร ถ้าหากเรากินให้ถูกช่วงเวลา และในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะมีสรรพคุณทางยาที่ดีเลิศ สำหรับลำไยสรรพคุณที่ได้กล่าวไปนั้นยังไม่หมดเพียงเท่านี้ การกินลำไลอบแห้งยังช่วยทำให้ความจำดีขึ้น ช่วยลดความเครียด และกระวนกระวาย บำรุงประสาทตา บำรุงผิวพรรณจึงทำให้ชาวจีนโบราณนิยมบริโภคลำไยอบแห้งกันในหลายๆ ครัวเรือน
ลำไยถือเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน และกึ่งร้อนของเอเชีย เชื่อว่ามีประวัติความเป็นมาอยู่แถวประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า หรือจีน ในประเทศไทยพบหลักฐาน เป็นต้นลำไยในสวนเก่าแก่ถูกปลูกในตรอกจันทร์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ใกล้วัดปริวาส ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลำไยที่ขยายพันธุ์มาจากการเพาะเมล็ด นั้นเป็นหลักฐานแสดงว่าลำไยมีอยู่ในประเทศไทยมาก่อนแล้ว และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาตามลำดับ และตามสภาพภูมิอากาศในประเทศ ต่อมาได้มีการนำมาขยายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ขยายพันธุ์สู่ภูมิภาคต่างๆ ใน ล้านนา โดยการเพาะเมล็ดจนเกิดการแปรพันธุ์ และได้พันธุ์ลำไยพันธุ์ใหม่ ที่เติบโตตามสภาพคุณลักษณะที่ดีของภูมิอากาศที่เหมาะสม และเอื้อต่อการเจริญเติบโตของลำไย โดยเฉพาะการปลูกที่จังหวัดลำพูน
จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่มีสภาพภูมิประเทศ ที่ดีในลุ่มแม่น้ำใหญ่หลายสาย ส่งผลให้การปลูกลำไยได้ผลดี และได้ได้เกิดลำไยต้นหมื่นขึ้นที่บ้านหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งเป็นต้นลำไยที่ให้ผลดกมากๆ จนสามารถเก็บออกขายได้ราคาหลักหมื่น ต่อมาสายพันธ์ได้มีการพัฒนาจนสามารถมีผลผลิตต่อต้นถึง 40-50 เข่งเลยทีเดียว พัฒนาการของลำไยในภูมิภาคนี้จนถึงลำไยต้นหมื่นที่หนองช้างคืน ก็มีอายุร่วมร่วม 60 ปี และถ้านับถึงปีปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพันธุ์ร่วม 90 ปีไปแล้ว จนขณะนี้มีลำไยเกิดขึ้นมากมายหลายสายพันธุ์ และมีการปลูกมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าแสนไร่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งสายพันธุ์ลำไยเป็น 2 สายพันธุใหญ่ๆ คือ ลำไยต้น และลำไยเครือ
- - ลำไยต้น เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อนำผลมาใช้บริโภค แปรรูปทำยาสมุนไพร แบ่งแยกสายพันธุ์ย่อยได้ดังนี้ ลำไยสายพันธุ์อีดอ ลำไยสายพันธุ์เบี้ยวเขียว ลำไยสายพันธุ์สีชมพู ลำไยสายพันธุ์กะโหลกแห้ว ลำไยสายพันธุ์ใบดำ และลำไยสายพันธุ์พื้นเมือง
- - ลำไยเครือ มีลำต้นเลื้อยคล้ายเถาวัลย์ มีผลเล็ก เมล็ดโต เนื้อมีกลิ่นลักษณะคล้ายกำมะถัน เป็นลำไยสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน และสถานที่ต่างๆ เท่านั้น
ลำไยเป็นไม้ให้ผลเป็นช่อ อาจจะมีผลขนาดเล็กถึงใหญ่ ทั้งนี้เป็นไปหตามแต่ละสายพันธุ์ ลักษณะเนื้อในมีสีขาวใส หรืออาจจะเป็นสีชมพูอ่อนๆ มีรสหวานจัด และให้ผลผลิตมากในช่วงหน้าฝน ทุกวันนี้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ถือเป็นแหล่งผลิตลำไยที่สำคัญ และมีการปลูกกันมาก การนำลำไยมาใช้เป็นอาหารนั้น นอกจากทานผลสดแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปได้อีกด้วย อย่างเช่น ลำไยกระป๋อง ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้ง เพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ ทำเป็นไวน์ลำไย หรือจะนำมาปรุงเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย ก็มีรสชาติอร่อยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าลำไยจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหอมหวานชวนรับประทาน แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานลำไยในปริมาณที่มากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีต่อสภาพร่างกาย เนื่องจากเนื้อลำไยเป็นผลไม้ที่มีปริมาณนํ้าตาลค่อนข้างสูงพอกับทุเรียน หรือน้อยหน่าเลยทีเดียว หากรับประทานเป็นปริมาณมากๆ อาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บคอ หรือร้อนใน
ดังนั้นในการบริโภคลำไยแต่ละครั้ง ก็ควรจะรับประทานใน ปริมาณที่พอเหมาะ ตามหลักโภชนาการของการบริโภคผลไม้ในแต่ละวัน คือ ผลไม้ 1 ส่วน จะเท่ากับลำไยผลใหญ่ 6 ผล หรือผลเล็ก 10 ผล ขณะที่ผู้ควบคุมนํ้าหนักก็ควรลดปริมาณข้าวลงในวันที่ต้องการบริโภค ลำไย หรือรับประทานผลไม้ชนิดอื่นๆ ให้มีความหลากหลาย เพื่อที่ ร่างกายจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
นอกจากผลลำไยที่ให้รสชาติที่อร่อยแล้ว ลำต้นของลำไยยังเป็นไม้เนื้อแข็งในระดับปานกลาง เนื้อไม้จะมีสีออกไปทางสีแดง และสามารถขัดขึ้นมันได้ดีอีกด้วย จึงนิยมนำไม้ลำไยมาใช้ทำเสาบ้าน หรือเสาให้พืชเกาะ หรือใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ก็ดูดีไม่หยอกจ้า
เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับบทความเกี่ยวกับลำไย หากสนใจอยากซื้อแบบเหมาสวนลำไยสามารถติดต่อผ่านอ้อมได้จ้า พ่ออ้อมก็มีส่วนลำไยในจังหวัดลำพูนด้วยเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าด้วยสภาพอากาศและพื้นที่ๆ เหมาะสมทำให้ลำไยที่ปลูกในจังหวัดลำพูนมีความอร่อยให้ผลดก บทความนี้อ้อมคงต้องเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน ไว้บทความหน้าจะมาแชร์ และเล่าเรื่องเกี่ยวกับลำไยให้ได้อ่านและศึกษากันใหม่ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไร ไว้ติดตามกันนะคะ ขอบคุณมากค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น